” การบริหารความเสี่ยง “

      การบริหารความเสี่ยงถือเป็นเครื่องมือสำคัญและจำเป็นในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเหตุการณ์วิกฤติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา นับเป็นเรื่องที่มีความยากมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการควบคุมไม่ให้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเนื่องจากเป็นปัจจัยภายนอก ทำให้ต้องปรับตัวและลดความเสี่ยงที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้การดำเนินงานและผลประกอบการเป็นไปตามเป้าหมาย การประเมินเพื่อลด “ความเสี่ยง” ถือเป็นการสร้างโอกาสให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน
      คิวทีซี จึงตระหนักดีว่าการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ รักษาไว้ซึ่งพันธกิจ ตามวิสัยทัศน์องค์กรในการก้าวขึ้นสู่บริษัทชั้นนำของโลก (World Calss) และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียนั้น มีความท้าทายภายใต้การวิวัฒน์ทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจสร้างโอกาสที่ดี หรือสร้างผลกระทบทางลบต่อการดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม ดังนั้น คิวทีซีจึงให้ความสำคัญต่อการบริหารความเสี่ยงองค์กรในทุก ๆ ด้าน ครอบคลุมมิติทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และสิทธิมนุษยชนภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการส่งเสริมความยั่งยืนและบริหารความเสี่ยงองค์กร , คณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัท
นโยบายการบริหารความเสี่ยงองค์กร https://qtc-energy.com/th/risk-management-policy-2/

กระบวนการบริหารความเสี่ยงองค์กร

      บริษัทฯ ได้จัดทำคู่มือการบริหารความเสี่ยงองค์กรไว้เป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนตามกรอบมาตรฐานการบริหารความเสี่ยง ERM-COSO โดยกำหนดให้มีการทบทวนความเสี่ยงด้วยการสำรวจสภาพแวดล้อมหรือบริบทองค์กรต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป และดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนที่กำหนด รับผิดชอบโดยคณะกรรมการส่งเสริมความยั่งยืนและบริหารความเสี่ยงองค์กร พร้อมทั้งรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ และกรรมการบริษัทไตรมาสละ 1 ครั้ง

โครงสร้างคณะกรรมการส่งเสริมความยั่งยืนและบริหารความเสี่ยงองค์กร

การดำเนินงานในปี 2567

• ดำเนินการประเมินผลกระทบและทบทวนความเสี่ยงปี 2567 จำนวน 4 ครั้งตามรอบที่กำหนด
• ความเสี่ยงที่สำคัญซึ่งมีนัยสำคัญต่อวัตถุประสงค์องค์กรยังคงเป็นหัวข้อความเสี่ยงเดิม โดยแยกออกเป็น 5 ด้าน 14 เรื่อง มีรายละเอียดความเสี่ยงที่สำคัญดังนี้

ความเสี่ยงที่สำคัญ

1. ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจ Strategic Risk

 

หัวข้อความเสี่ยง มาตรการและผลการดำเนินงาน
การพึงพิงลูกค้ารายใหญ่ ในธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ของธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้ามาจากการประมูลงานภาครัฐ ซึ่งมีความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลต่อการใช้งบประมาณรายจ่ายภาครัฐ และมีคู่แข่งขันในตลาดมากซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ บริษัทฯ ได้กำหนดกลยุทธ์และสร้างมาตรการเพื่อควบคุมและลดความเสี่ยงไว้ดังนี้

  • มีหน่วยงานและผู้รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับงานขายราชการ พร้อมกำหนดบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน
  • ปรับปรุงมาตรฐานการผลิต และกระบวนการบริหารจัดการ เพื่อลดต้นทุน ภายใต้คุณภาพมาตรฐานสากล และมีความรับผิดชอบ
  • ขยายตลาดต่างประเทศด้วยการผลิตแบบ OEM ปัจจุบันมี 2 กลุ่มประเทศได้แก่ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น (ไม่สามารถกล่าวอ้างชื่อแบรนด์ได้) เป็นความลับทางการค้า
  • ตั้งตัวแทนขายในต่างประเทศจำหน่ายภายใต้แบรนด์ QTC เพื่อเพิ่มช่องทางการขาย
  • พัฒนาผลิตภัณฑ์หม้อแปลงประหยัดพลังงาน (Super Low Loss) และ Smart Transformer สร้างความแตกต่างเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับลูกค้า
  • ขยายฐานลูกค้ากลุ่มงานบริการบำรุงรักษาหม้อแปลงไฟฟ้า
  • ขยายธุรกิจกลุ่มพลังงานสะอาด (เป็นตัวแทนจำหน่าย)
  • ปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการลูกค้าที่มีความหลากหลาย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากขึ้น

การดำเนินงานในปี 2567

  • ชนะการประมูลหม้อแปลงไฟฟ้าชนิด IoT ขนาด 160/22 และ 250/22 (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) 2 รายการจำนวน 699 เครื่อง และชนะการประมูลหม้อแปลงไฟฟ้าขนาด 750/24 (การไฟฟ้านครหลวง) 1 รายการจำนวน 118 เครื่อง รวมการส่งมอบหม้อแปลงไฟฟ้างานการไฟฟ้าทั้งสิ้น 1,306 เครื่อง (รวมยอดปี 2566 ที่ส่งมอบ ปี 2567)
  • สร้างพันธมิตรทางการค้าโดยการแต่งตั้ง ตัวแทนขายสินค้าและให้บริการบำรุงรักษาหม้อแปลงไฟฟ้าให้ครอบคลุมทุกภาคของประเทศไทย
  • พัฒนาผลิตภัณฑ์หม้อแปลงไฟฟ้าประเภทขดลวดอลูมิเนียม เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดกลุ่มลูกค้า Main Account ต่างประเทศ
  • สามารถขายหม้อแปลงไฟฟ้าไปยังประเทศเยอรมันได้มูลค่ากว่า 2.51 ล้านบาท
  • รายได้จากการขายและบริการในปี 2567 เติบโตขึ้นร้อยละ 6.57 จากปี 2566
การลงทุนในธุรกิจอื่น เพื่อกระจายความเสี่ยงการลงทุนในธุรกิจด้านพลังงานที่มีความเชื่อมโยงกับธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า โดยการจัดตั้งบริษัทฯ ย่อยขึ้นดำเนินการเฉพาะในธุรกิจนั้นโดยมีแนวทาง 2 แนวทางดังนี้

    1. ดำเนินการลงทุนผ่านการดำเนินงานของบริษัท คิวทีซี โกลบอล เพาเวอร์ (จำกัด) : QTCGP ซึ่งเป็นบริษัทย่อย และธุรกิจด้านพลังงานเป็นธุรกิจซึ่งบุคลากรส่วนใหญ่ของ คิวทีซีไม่มีความถนัด บริษัทฯ จึงมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงดังนี้
      • ว่าจ้างที่ปรึกษาเฉพาะทางภายนอก เพื่อศึกษารายละเอียดโครงการ ที่จะเข้าลงทุน ครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
      • การลงทุนใดๆ ในธุรกิจอื่นต้องผ่านกระบวนการเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัท และมติของผู้ถือหุ้น

การดำเนินงานในปี 2567

      • สถานีอัดประจุรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้ brand Super Fast เป็นการดำเนินงานโดย PPWE ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน มีรายได้จากสถานีอัดประจุรถยนต์ไฟฟ้าปี 2567 จำนวน 0.67 ล้านบาท
      • ลงทุนร่วมกับพันธมิตร บริษัท Move EV X เป็นตัวแทนติดตั้งสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า (EV Bike) โดยสามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ภายใน 3 นาที กระจายติดตั้ง 7 แห่ง ตามพื้นที่ต่างๆในกรุงเทพมหานคร จะสามารถรับรู้รายได้ในปี 2568
    1. การจัดตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาดำเนินการในธุรกิจเฉพาะด้าน เพื่อให้มีความคล่องตัวและมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ และเป็นการพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ให้เป็น New Role Business Model เพื่อส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจและความก้าวหน้าของบุคลากรที่มีความสามารถในองค์กร

การดำเนินงานในปี 2567

    • บริษัท คิวทีซี อาร์อี จำกัด ดำเนินธุรกิจซื้อมา-ขายไป เกี่ยวกับอุปกรณ์ด้านพลังงานสะอาดแบบครบวงจร โดยการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าแบรนด์ที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีรายได้จากการดำเนินงาน 320.76 ล้านบาท
    • บริษัท คิวทีซี อีวี จำกัด ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ปี 2567 สร้างสถานีอัดประจุรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้ brand Pro Charge มีรายได้ 0.91 ล้านบาท
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ       จากปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อให้เกิดวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม ฝนไม่ตกตามฤดูกาล เกิดภัยแล้ง น้ำท่วม อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น สร้างผลกระทบต่อการดำรงชีวิตอยู่ของสิ่งมีชีวิตทั่วโลก การลดผลกระทบดังกล่าวต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในทุก ๆ ประเทศทั่วโลกเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านกลไกต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การออกกฎหมายเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเก็บภาษีคาร์บอน การกีดกันทางการค้าจากคาร์บอนที่ติดตัวผลิตภัณฑ์ ค่านิยมการบริโภคผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำที่สูงขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นทั้งโอกาส และความเสี่ยงในการดำเนินงานของธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต
      บริษัทฯ ได้ทำการวิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทั้ง Transition Risk และ Physical Risk ซึ่งจัดให้อยู่ในหมวดความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจ โดยกำหนดเป้าหมายระยะสั้น Carbon Neutrality ภายในปี 2035 และเป้าหมายระยาว Net Zero ภายในปี 2050
      รายละเอียดของการประเมินโอกาส และความเสี่ยง ตลอดจนผลการดำเนินงานปี 2567 ดูเพิ่มเติมได้ที่รายงานความยั่งยืน 2567 หัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” คลิ๊กที่นี่

2. ความเสี่ยงด้านการเงิน Financial Risk

 

หัวข้อความเสี่ยง มาตรการและผลการดำเนินงาน
ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และความผันผวนของราคาวัตถุดิบ เนื่องจากการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ามีความจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบหลักจากต่างประเทศเป็นสัดส่วน 60% ของมูลค่าวัตถุดิบที่ใช้ต่อปี และมีการส่งออกหม้อแปลงเป็นสัดส่วน 20-30% ของยอดขาย อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และราคาวัตถุดิบ เช่น ทองแดง เหล็กซิลิกอน มีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์โลกสำคัญๆ บริษัทฯ จึงมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงดังนี้

  • นโยบายซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า Forward Contract
  • ติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาวัตถุดิบหลักอย่างใกล้ชิด เช่น ทองแดง เหล็กซิลิกอน น้ำมันหม้อแปลง และทำการจองซื้อวัตถุดิบล่วงหน้า หากเห็นโอกาสได้เปรียบทางการค้า

การดำเนินงานในปี 2567
      มีผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 1.19 ล้านบาท ในภาพรวมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศยังมีความผันผวน บริษัทฯยังคงป้องกันความเสี่ยงจากการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Forward Contract) ส่งผลให้ปี 67 ไม่ได้รับผลกระทบจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

ความเสี่ยงในการบริหารลูกหนี้ เนื่องจากการแข่งขันทางการค้าปัจจุบัน ทำให้ต้องมีการให้สินเชื่อแก่ลูกค้า เพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน ในขณะเดียวกันหากลูกค้าที่บริษัทฯ ให้สินเชื่อไปนั้น ขาดวินัยทางการเงิน ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในการชำระหนี้ ก่อให้เกิดเป็นหนี้ค้างชำระ ทำให้บริษัทฯ ไม่ได้รับเงินตรงตามเวลาที่กำหนด ส่งผลกระทบต่อการบริหารสภาพคล่องทางการเงิน บริษัทฯ จึงมีมาตรการควบคุมและป้องกันดังนี้

  • ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (เป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชีบันทึกภายใต้ค่าใช้จ่ายในการบริหาร) หรือการวัดมูลค่าผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยบริษัทฯได้ใช้วิธีอย่างง่าย (Simplified Approach) ในการวัดมูลค่าผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตลอดอายุหนี้และรับรู้ผลขาดทุนตั้งแต่การรับรู้รายการลูกหนี้การค้าและสินทรัพย์ที่เกิดจากสัญญา
  • ปรับนโยบายการให้เครดิตลูกค้า กำหนดหลักเกณฑ์ในการประเมินการให้เครดิตลูกค้าอย่างชัดเจน
  • กรณีลูกค้าไม่ผ่านหลักเกณฑ์การให้เครดิต กำหนดให้ขายเป็นเงินสด
  • มีนโยบายการเร่งรัดและติดตามหนี้ค้างนานเกิน 1 ปี โดยการทำสัญญาผ่อนชำระเป็นรายงวด
  • ตั้งสำรองลูกหนี้การค้าตามมาตรฐาน TFRS#9

การดำเนินงานในปี 2567
      ระยะเวลาการรับชำระหนี้ ลดลงเป็น 67 วัน โดยลดลงจากปี 2566 ที่มีระยะเวลาในการรับชำระหนี้ 69 วัน โดยลูกหนี้การค้าสุทธิ-งบเฉพาะกิจการ(ก่อนหักค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น) ในปี 2567 จำนวน 179.56 ล้านบาท ลดลงจากปี 2566 ซึ่งมีจำนวน 285.27 ล้านบาท ลดลงคิดเป็นร้อยละ 37.06 ลูกหนี้ค้างชำระเกิน 1 ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2566 เป็นจำนวน 7.32 ล้านบาท และค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ลดลงจากปี 2566 เป็นจำนวน 1.03 ล้านบาท
      เนื่องจากบริษัทให้ความสำคัญในการติดตามหนี้จากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่เพื่อให้ชำระตรงตามกำหนดเวลา ในขณะที่ยังมีผลกระทบต่อสภาพคล่องของลูกค้ารายย่อย ซึ่งหากมีปัญหาในการจ่ายชำระจะทำการเจรจาให้ทำการผ่อนชำระ รวมถึงลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระเกิน 1 ปี ยังคงไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามสัญญาที่ตกลงทำไว้กับบริษัทฯ แต่ยังคงมีการผ่อนชำระมาบางส่วน ทั้งนี้บริษัทฯยังคงเร่งติดตามหนี้ค้างนานเกิน 1 ปีโดยสามารถเรียกชำระได้ในปี 2567 เป็นจำนวน 5.59 ล้านบาท

3. ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติ Operational Risk

หัวข้อความเสี่ยง มาตรการและผลการดำเนินงาน
สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน เนื่องจากสภาพการทำงานของพนักงานเกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องมือ เครื่องจักร สารเคมี และมีกระบวนการทำงานที่เป็นขั้นตอน และโรงงานตั้งอยู่ร่วมกับชุมชนซึ่งมีอายุกว่า 20 ปี อาจเกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อพนักงาน และชุมชนได้ บริษัทฯ จึงได้กำหนดมาตรการป้องกันไว้ดังนี้

  • บริหารจัดการด้านความปลอดภัยด้วยระบบมาตรฐาน ISO45001
  • กำหนดมาตรฐานการทำงานที่ปลอดภัย และ PPE อย่างเหมาะสม การซ่อมบำรุงเครื่องจักรตามระยะ
  • ตรวจรับรองระบบไฟฟ้า และอาคาร โดยผู้เชี่ยวชาญภายนอก
  • ติดตั้งระบบเตือนภัยอัตโนมัติกรณีเกิดเพลิงไหม้
  • ฝึกอบรมดับเพลิง และอพยพหนีไฟ
  • กระตุ้นจิตสำนึกความปลอดภัยด้วยกิจกรรม KYT
  • จัดกิจกรรมสัปดาห์ความปลอดภัย เพื่อให้ความรู้ สร้างความตระหนักแก่พนักงาน และชุมชน
  • มีคณะกรรมการความปลอดภัย (คปอ.) จากการเลือกตั้งเป็นตัวแทนลูกจ้างร่วมพิจารณาแนวทางการดำเนินงานด้านความปลอดภัย
  • โครงการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อลด ละ เลิก บุหรี่ เหล้า และสวัสดิการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามสถานการณ์ที่ระบาด
  • กิจกรรม BBS – Behavior Base Safety

การดำเนินงานในปี 2567
      จำนวนอุบัติเหตุลดลงจากปี 256 คิดเป็น 5% ไม่บรรลุเป้าหมาย Zero Accident รายละเอียดการดำเนินงาน และมาตรการป้องกันแก้ไขติดตามในรายงานความยั่งยืน 2567 “ประเด็นความปลอดภัย และสุขภาพของพนักงาน” คลิ๊กที่นี่

การไหลออกของวิศวกร ,ช่างฝีมือ และบุคลากรในตำแหน่งงานสำคัญ เนื่องจากโรงงานตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันด้านแรงงานค่อนข้างสูง ตั้งแต่พนักงานระดับใช้แรงงาน ถึงระดับวิชาชีพ บริษัทฯ ได้วางมาตรการควบคุมและป้องกันที่สำคัญไว้ดังนี้

  • ปรับโครงสร้างค่าจ้าง และผลประโยชน์ของพนักงานอย่างเหมาะสม โดยเทียบกับอุตสาหกรรมเดียวกัน
  • ปรับระบบการประเมินผลและการจ่ายค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม
  • การพัฒนาบุคลากรรายบุคคลตามเส้นทางอาชีพ IDP
  • จัดทำ KM ที่สำคัญ ของบริษัทฯ และสร้างสูญการเรียนรู้แบบ On-line
  • สร้างสุขภาวะองค์กร ตามแนวทาง Happy 8

การดำเนินงานในปี 2567
      อัตราการลาออกของพนักงานที่สมัครใจกลุ่มวิศวกร , ช่างฝีมือ และบุคลากรในตำแหน่งงานสำคัญๆ คิดเป็นร้อยละ 4.60 จากอัตราการลาออกที่สมัครใจทั้งปีร้อยละ 9.58 หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของพนักงานที่ลาออกโดยสมัครใจทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ลดลงจากปี 2566 โดยสาเหตุการลาออกส่วนใหญ่เป็นการออกไปทำธุรกิจส่วนตัวหรือสานต่อธุรกิจของครอบครัว และบางส่วนเปลี่ยนที่ทำงานใหม่เพื่อกลับภูมิลำเนา ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานภายในองค์กร เนื่องจากบริษัทฯ ได้มีการพัฒนาบุคลากรรายบุคคลตามเส้นทางอาชีพ (IDP) อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สามารถขึ้นมาทดแทนในตำแหน่งที่ว่างลงได้ทันที

การพึ่งพิงผู้บริหารหลักในการดำเนินธุรกิจ การบริหารงานในบริษัท โดยผู้นำส่วนใหญ่เป็นผู้มีประสบการณ์เฉพาะทางหม้อแปลงไฟฟ้า และติดเป็นแบรนด์ของสินค้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้มีส่วนได้เสีย ในอนาคตหากมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกี่ยวกับผู้นำองค์กรอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ของผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ เช่นผู้ถือหุ้น พนักงาน บริษัทฯ จึงได้มีมาตรการป้องกันไว้ดังนี้

  • จัดทำแผนสืบทอดตำแหน่ง (succession plan) และคัดเลือกผู้สืบทอด
  • ส่งเสริมภาวะผู้นำ และพัฒนาทักษะผู้สืบทอด ตาม Career Path
  • ส่งเสริมการทำตลาดโดยใช้แบรนด์สินค้า และมาตรฐานโรงงานเป็นตัวนำ

การดำเนินงานในปี 2567
      บริษัทฯ ได้ส่งบุคลากรในระดับสำคัญ ๆ พัฒนาทักษะ ความรู้ความสามารถ ที่จำเป็นเพิ่มเติม ตามแนวทางการพัฒนาแผนสืบทอด รายละเอียดเพิ่มเติมในรายงานความยั่งยืน 2567 หัวข้อ “แผนพัฒนาผู้สืบทอดตำแหน่งงาน” คลิ๊กที่นี่

การจัดการของเสียอันตราย และวัสดุเหลือใช้จากการผลิต กฎหมาย หรือ ข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการของเสียในโรงงานอุตสาหกรรมมีการปรับเปลี่ยนปรับปรุงตลอดเวลาเพื่อยกระดับมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ก่อกำเนิดของเสีย ผู้ขนส่งของเสีย และผู้รับกำจัดของเสีย ความตื่นตัว และใส่ใจต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมของผู้คนในสังคม-ชุมชน มีสูงขึ้น สื่อสังคมออนไลน์มีความรวดเร็วและมักมีความไม่ชัดเจนในข้อเท็จริง หากองค์กรไม่ใช้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปล่อยปะละเลยไม่กำกับควบมคุมการขนส่ง การกำจัดของเสียอย่างถูกวิธี อาจมีความเสี่ยงต่อชื่อเสียงขององค์การ อาจถูกพักใบอนุญาตประกอบกิจการ หรือาจต้องเสีค่าปรับตามกฎหมาย และอาจส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
บริษัทฯ จึงได้กำหนดมาตรการควบคุม และป้องกันไว้ดังนี้

  • ขออนุญาตและขึ้นทะเบียนบริษัทผู้รับกำจัด แยกตามประเภทของของเสียจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม
  • ทีมงานเข้าตรวจประเมินพื้นที่ และวิธีกำจัด ณ พื้นที่ของผู้รับกำจัด
  • ควบคุมการขนย้าย และการบรรจุเพื่อป้องกันการหกรั่วไหลก่อนออกจากโรงงาน
  • คัดแยกขยะขายได้ ขายไม่ได้โดยใช้หลักการ 3Rs
  • Zero Landfill โดยคัดแยกขยะเพื่อจัดส่งเข้าโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะแทนการฝังกลบลงดิน ยกเว้นรายการที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย

การดำเนินงานในปี 2567
      สามารถดำเนินการนำขยะประเภทฝังกลบเข้าสู่กระบวนการผลิตไฟฟ้าได้ 100% เป็น Zero Landfill 100% โดยมีการนำลูกถ้วยเซรามิกฝังกลบจำนวน 700 กก. (เป็นรายการที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายเนื่องจากมีสถานะที่ไม่สามารถย่อยสลายต่อได้ / ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก) และไม่มีกรณีร้องเรียนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการจัดการของเสียอันตราย และวัสดุเหลือใช้จากการผลิต ผลการดำเนินงานสามารถติดตามได้จากรายงานความยั่งยืน 2567 หัวข้อ “การจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้จากการผลิต” คลิ๊กที่นี่

4. ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย Compliance Risk

หัวข้อความเสี่ยง มาตรการและผลการดำเนินงาน
การปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ลักษณะธุรกิจผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าเป็นโรงงานอุตสาหกรรม มีการผลิต ซ่อมแซม จำหน่าย บริการ ให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ จึงมีกฎหมาย ข้อกำหนด มากมายที่บริษัทฯ จะต้องปฏิบัติตามให้สอดคล้อง ซึ่งในตัวกฎหมาย หรือข้อกำหนดต่าง ๆ ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงตามวาระตามสมัยเพื่อป้องกันความผิดพลาดในการดำเนินธุรกิจ บริษัทฯ ได้กำหนดมาตรการป้องกันไว้ดังนี้

  • กำหนดผู้รับผิดชอบในการติดตาม รวบรวม ประเมินความสอดคล้องของกฎหมาย และข้อกำหนดทางการค้า จากช่องทางที่เหมาะสม เช่น ราชกิจจานุเบกษา ประกาศต่าง ๆ
  • จัดทำเป็นขั้นตอนการปฏิบัติงาน การประเมินความสอดคล้องของกฎหมาย และข้อกำหนด เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติครอบคลุมทั้งองค์กร
  • หน่วยงาน Document Control จัดทำเป็นทะเบียนกฎหมาย ข้อกำหนดทางการค้า ที่เกี่ยวข้อง และรายงานต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ทุกไตรมาส

การดำเนินงานในปี 2567
      ไม่มีประเด็นที่ปฏิบัติขัดต่อกฎหมาย แต่มีเพียงประเด็นที่อยู่ระหว่างปรับปรุงให้สอดคล้องต่อกฎหมายซึ่งเป็นรายการที่มีการปรับปรุงกฎหมายใหม่และมีระยะเวลาให้ดำเนินการได้ตามกฎหมาย และมีแผนรองรับ

การคอร์รัปชัน ลักษณะธุรกิจผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าเป็นโรงงานอุตสาหกรรม มีการผลิต ซ่อมแซม จำหน่าย บริการ ซึ่งการปฏิบัติงานต่างๆ ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของข้อกำหนด และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และต้องมีการติดต่อ ประสานงาน ตลอดจนการนำส่งเงินค่าธรรมเนียม ค่าภาษีอากร การค้าขายกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งอาจเกิดช่องว่างให้เกิดการคอร์รัปชันได้ บริษัทฯ ได้กำหนดมาตรการควบคุม และป้องกันไว้ดังนี้

  • กำหนดนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้ในบริษัท และบริษัทย่อยทุกแห่ง
  • อบรม ให้ความรู้พนักงาน โดยกำหนดให้เป็นหลักสูตรความจำเป็นในการอบรมพนักงานจะต้องผ่านการอบรม 100% และผลการประเมินความเข้าใจมากกว่า 80%
  • เข้าเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต (CAC)

การดำเนินงานในปี 2567
      ไม่มีเหตุการณ์ หรือข้อร้องเรียน หรือการแจ้งเบาะแสการกระทำผิด ผลการดำเนินงานสามารถติดตามได้จากรายงานความยั่งยืน 2567 หัวข้อ “ต่อต้านคอร์รัปชัน” คลิ๊กที่นี่

สิทธิมนุษยชน และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ลักษณะธุรกิจของ QTC Energy มีบริษัทลูกในเครืออีกหลายแห่ง กิจกรรมทางธุรกิจมีทั้งภาคการผลิต ซื้อมา-ขายไป การลงทุนในโครงการต่างๆ ซึ่งในแต่ละกิจกรรมทางธุรกิจย่อมทำให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าทางธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องมากมายในห่วงโซ่คุณค่านี้ และด้วยวิสัยทัศน์องค์กรที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และมีธรรมาภิบาล และต้องการนำองค์กรสู่ระดับ World Class จึงให้ความสำคัญในประเด็นทางสังคมที่ทั่วโลกให้ความสนใจและกังวล “สิทธิมนุษยชน” และ “การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” บริษัทฯ ได้ดำเนินการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบอย่างรอบด้านพร้อมกำหนดมาตรการควบคุม และป้องกันไว้ดังนี้

  • ประกาศนโยบายสิทธิมนุษยชน และนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสู่สาธารณะ
  • จัดทำแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับนโยบายสิทธิมนุษยชน และ นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และบังคับใช้อย่างเคร่งครัด
  • จัดอบรมพนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
  • ดำเนินการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence : HRDD) ในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ ตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ พร้อมทั้งมีการประเมินความเสี่ยง และผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมกับการละเมิดสิทธิ ซึ่งมักเกิดขึ้นในกรณีที่บริษัทรู้ดี หรือควรจะรู้ดีว่าพันธมิตรทางธุรกิจหรือคู่ค้าละเมิดสิทธิมนุษยชน เท่ากับว่าบริษัทมีส่วนทางอ้อมในการละเมิดสิทธิ

การดำเนินงานในปี 2567
      ไม่ได้รับการแจ้งเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งในองค์กร และในห่วงโซ่ธุรกิจ ดำเนินการตรวจสอบสิทธิมนุษยชน (Human Rights Due Diligence : HRDD) ในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจครบ 100% ผลการดำเนินงานสามารถติดตามได้จากรายงานความยั่งยืน 2567 หัวข้อ “สิทธิมนุษยชน” คลิ๊กที่นี่

5. ความเสี่ยงด้านการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ Business Continuity Risk

หัวข้อความเสี่ยง มาตรการและผลการดำเนินงาน
ภาวะฉุกเฉิน เป็นความเสี่ยงจากภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น น้ำท่วมสำนักงานใหญ่กรุงเทพฯ ไฟไหม้สำนักงานใหญ่ หรือโรงงานจังหวัดระยอง หรือ ในบริษัทย่อยทุกแห่ง บริษัทฯ ได้วางมาตรการป้องกัน และเตรียมรับภาวะฉุกเฉินไว้ดังนี้

  • จัดทำแผนป้องกัน และระงับอัคคีภัย และฝึกซ้อมทุกปี
  • จัดทำแผนกู้คืนข้อมูลสารสนเทศ และทำการฝีกซ้อมแผนปีละ 1 ครั้ง
  • ซื้อกรมธรรม์ที่มีความคุ้มครองความเสี่ยง

การดำเนินงานในปี 2567
      ไม่มีเหตุการณ์ภาวะฉุกเฉินที่ส่งผลกระทบต่อการหยุดชะงักของกิจการทั้งในบริษัทฯ และบริษัทย่อย และบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด สม่ำเสมอ

ภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ เป็นความเสี่ยงที่เป็นภัยคุกคามด้านความปลอดภัยต่อการดำเนินงานของธุรกิจซึ่งมีแนวโน้มที่อาจจะเกิดขึ้นและสร้างความเสียหายให้กับข้อมูลสำคัญ ๆ ในการดำเนินธุรกิจ บริษัทฯ กำหนดนโยบายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องเพื่อการป้องกันความเสี่ยงไว้อย่างรัดกุม และรอบครอบ ให้ความรู้ ความเข้าใจกับพนักงาน พร้อมเตรียมแผนสำรองไว้หากเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้น
นโยบายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ : https://qtc-energy.com/wp-content/uploads/2023/03/it-security-policy.pdf
การดำเนินงานในปี 2567

  • จัดจ้าง T-NET Co.,Ltd. ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ มาตรวจสอบช่องโหว่พร้อมประเมินความเสี่ยงใหม่เพื่อหาโอกาสในการปรับปรุงให้ระบบมีความมั่นคง ปลอดภัยมากยิ่งขึ้นซึ่งผลการดำเนินงานพบช่องโหว่ที่อาจมีความเสี่ยงต่อการถูกบุกรุก และบริษัทฯ ได้ดำเนินการปิดความเสี่ยงตามรายการที่ตรวจพบครบ 100%
  • พิจารณาเปลี่ยนระบบ ERP จาก AX2012 เป็น D365 ซึ่งจะเริ่ม Implement ระบบในปี 2568 ทั้งนี้เพื่อให้ระบบ ERP มีความมั่นคงปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
  • ตรวจพบความพยายามเจาะระบบ แต่ไม่สำเร็จเนื่องจากบริษัทฯ ได้มีมาตรการเฝ้าระวัง และปรับปรุงมาตรการป้องกันอย่างต่อเนื่อง

© 2023 QTC ENERGY All rights reserved.