” นโยบายสิทธิมนุษยชน “

บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ “QTC” ดำเนินธุรกิจผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย และธุรกิจด้านพลังงาน ดำเนินงานโดยยึดมั่นความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มตามหลักบรรษัทภิบาล พร้อมทั้งให้ความสำคัญในการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนตามปรัชญาขององค์กร กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และหลักปฏิบัติสากลเช่นการสนับสนุนและปฏิบัติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR), หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (United nations Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGPs) , สิทธิเด็กและหลักปฏิบัติทางธุรกิจ (Children’s Rights and Business Principles : CRBP)

และเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินธุรกิจของคิวทีซี ปลอดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็ก คณะกรรมการบริษัทจึงเห็นสมควรให้กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนขึ้นเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิเด็กในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ และผู้ร่วมธุรกิจ โดยกำหนดให้สิทธิเด็กเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสิทธิมนุษยชน

ขอบเขตการดำเนินการ

นโยบายด้านสิทธิมนุษยชนนี้บังคับใช้กับคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ครอบคลุมทุกกิจกรรมทางธุรกิจของ บริษัทคิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยทุกแห่ง รวมถึงบริษัทที่คิวทีซีถือหุ้นและมีอำนาจในการบริหารงาน

คิวทีซี มีความคาดหวังและส่งเสริมให้คู่ค้าธุรกิจ เช่นบริษัทร่วมทุนที่คิวทีซีไม่มีอำนาจในการบริหารงาน ผู้รับเหมา ผู้ส่งมอบ ตัวแทนขายและบริการ และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ในห่วงโซ่คุณค่า (Business Value Chain) สนับสนุนและปฏิบัติตามนโยบายนี้

คำนิยาม

สิทธิมนุษยชน (Human Rights) หมายถึง สิทธิที่มีโดยธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางกาย เชื้อชาติ ศาสนา เผ่าพันธุ์ เพศ ภาษา สีผิว อายุ วัฒนธรรม สถานะทางสังคม รวมถึงสิทธิในการทำงาน การศึกษา การแสดงความคิดเห็นและการรวมกลุ่ม สิทธิในการดำรงชีวิต และอื่นๆ มนุษย์ทุกคนมีสิทธิต่าง ๆ เหล่านี้โดยเท่าเทียมไม่ถูกเลือกปฏิบัติ
เด็ก หมายถึง บุคคลที่มีอายุต่ำ 18 ปี เว้นแต่จะบรรลุนิติภาวะก่อนหน้านั้น ตามกฎหมายที่บังคับแก่เด็กนั้น เช่น ในกรณีของประเทศไทย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ว่าด้วยบุคคล มาตรา 19 กำหนดว่า บุคคลจะบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ แต่หากบุคคลนั้นได้ทำการสมรสก่อนอายุครบ 20 ปี บริบูรณ์ ตามมาตรา 20 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บุคคลนั้นเป็นผู้บรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย
สิทธิเด็ก (Children’s Rights) หมายถึง สิทธิติดตัวแต่กำเนิดของเด็กซึ่งประกอบไปด้วยสาระสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิในการพัฒนา และสิทธิในการมีส่วนร่วม และตั้งอยู่บนหลักการไม่เลือกปฏิบัติ เท่าเทียม และถือประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้ง
คิวทีซี (QTC) หมายถึง บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งรวมถึงบริษัทย่อย และบริษัทร่วมทุนที่ คิวทีซีมีอำนาจในการบริหาร
พนักงาน หมายถึง พนักงานของคิวทีซี ทุกตำแหน่งงานที่ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้สัญญาจ้างงาน
คู่ค้า,ผู้รับเหมา,

ผู้ส่งมอบ

หมายถึง องค์กร กลุ่มบุคคล หรือบุคคลที่ทำหน้าที่จัดหาวัตถุดิบ บริการต่างๆ ให้แก่คิวทีซี
ตัวแทนขายและบริการ หมายถึง องค์กร กลุ่มบุคคล หรือบุคคลที่ทำหน้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์และบริการของคิวทีซี

นโยบาย

  1. ตระหนักถึงความสำคัญและเคารพต่อสิทธิมนุษยชนในทุกด้านของบุคคลอื่น ตามหลักปฏิบัติท้องถิ่นในสังคมชุมชน กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) รวมถึงการเคารพและส่งเสริมสิทธิเด็กตามหลักการชี้นะว่าด้วย สิทธิเด็กและหลักปฏิบัติทางธุรกิจ (Children’s Rights and Business Principles : CRBP)
  2. ปฏิบัติต่อทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมโดยปราศจาคการเลือกปฏิบัติ
  3. หลีกเลี่ยงการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจที่จะส่งผลกระทบเชิงลบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสิทธิมนุษยชนของผู้อื่น เช่น พนักงาน ชุมชน คู่ค้า ผู้รับเหมา ผู้ส่งมอบ ตัวแทนขาย และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ รวมถึงเด็ก ในห่วงโซ่คุณค่า (Business Value Chain)
  4. สนับสนุน ส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่า (Business Value Chain) เคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน และสิทธิเด็ก
  5. สื่อสาร และเผยแพร่เพื่อทำความเข้าใจในหลักการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชน และหลักปฏิบัติด้านสิทธิเด็กแก่ผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่า (Business Value Chain)

แนวทางปฏิบัติ

  1. ต้องให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และสิทธิเด็ก โดยปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคใดบุคคลหนึ่งอันเนื่องมาจากความเหมือนหรือแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว วัฒนธรรม ภาษา การศึกษา เพศ อายุ ลักษณะหรือรูปลักษณ์ทางกายภาพ ความเห็นทางการเมือง หรือสถานะทางสังคมเป็นต้น
  2. ต้องรักษาไว้ซึ่งสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และดูแลสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัย เพื่อให้พนักงานปฏิบัติงานได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยการปฏิบัติตามกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ควบคู่กับการส่งเสริมการสร้างสุขภาวะองค์กรเพื่อให้พนักงานมีชีวิตที่สมดุลย์ (Work Life Balance) ตลอดจนการให้ความเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดของพนักงาน การเจรจาต่อรอง และการรวมกลุ่มของพนักงาน
  3. สนับสนุนให้มีการจัดหลักสูตรฝึกทักษะในการทำงานเฉพาะด้าน แก่นักเรียน นักศึกษาฝึกงาน และสนับสนุนการเรียนรู้นอกห้องเรียนของสถานศึกษา เพื่อให้เยาวชนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมในการมีทักษะที่สำคัญจำเป็นต่อการดำรงชีวิต หรือการปฏิบัติงานในอนาคต
  4. ส่งเสริมให้พนักงานที่เป็นผู้ปกครองหรือผู้เลี้ยงดูเด็กสามารถปฏิบัตหน้าที่ดูแลครอบครัวควบคู่กับการปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบในงานได้อย่างมีประสิทธิผล
  5. ต้องใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ และหลีกเลี่ยงการดำเนินการที่อาจมีความเสี่ยงที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อื่น หรือการละเมิดสิทธิเด็กทั้งทางตรงและทางอ้อม
  6. ต้องไม่ละเลยหรือเพิกเฉยเมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือละเมิดสิทธิเด็กที่เกี่ยวข้องกับคิวทีซี โดยจะต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ หรือรายงานผ่านช่องทางร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชน
  7. สื่อสาร เผยแพร่ ความรู้ความเข้าใจถึงแนวทางปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชน และสิทธิเด็กพร้อมทั้งสนับสนุนส่งเสริมให้มีการปฏิบัติจริงแก่ผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่า (Business Value Chin) เพื่อให้มีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล
  8. กำหนดให้มีกระบวนการจัดการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Right Due Diligence : HRDD) เพื่อชี้บ่งประเด็นความเสี่ยง ผลกระทบ วางแผนงานและกำหนดแนวทางแก้ไขและป้องกัน ตลอดจนการบรรเทาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนใดๆ ก็ตามที่เกิดหรืออาจเกิดจากการดำเนินการทางธุรกิจของคิวทีซี
  9. กำหนดให้มีการทบทวนนโยบาย และกระบวนการด้านสิทธิมนุษยชนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเพื่อให้มีการพัฒนากระบวนการอย่างต่อเนื่องและเหมาะสมกับสถานการณ์
  10. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของคิวทีซี ที่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือสิทธิเด็ก ถือเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณของคิวทีซี ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบที่กำหนดไว้ และอาจได้รับโทษตามกฎหมายหากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย

การร้องเรียนและการให้ความคุ้มครอง

  1. ผู้พบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับคิวทีซี สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ผ่านช่องดังนี้
    • ทางจดหมายถึงคณะกรรมการตรวจสอบ บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน) เลขที่ 2/2 ซอยกรุงเทพกรีฑา 8 แยก 5 ถนนกรุงเทพกรีฑา แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ 10240
    • ทาง e-mail : audit@qtc-energy.com (คณะกรรมการตรวจสอบ)
    • ทางหน้าเว็ปไซด์ของบริษัท qtc-energy.com
  1. คิวทีซีจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองบุคคลที่แจ้งเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับคิวทีซี โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่คิวทีซีกำหนดไว้ใน https://qtc-energy.com/wp-content/uploads/2021/10/01-Anti_Corruption.pdf

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัท มีความคาดหวังว่า กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานทุกระดับของคิวทีซี และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ (Business Value Chain) จะให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการปฏิบัติตามนโยบายสิทธิมนุษยชน และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความยั่งยืนร่วมกันตลอดไป

(นายเกริกไกร จีระแพทย์)

ประธานคณะกรรมการบริษัท

© 2021 QTC ENERGY All rights reserved.